บริษัท ศูนย์วิจัยนวัตกรรมอินเทอร์เน็ตไทย จำกัด หรือทรูฮิตส์ วิจัยสถิติภาพรวมการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทย มีประชากรอินเทอร์เน็ตมากกว่า 25 ล้านคน ออนไลน์เฉลี่ยวันละ 6.15 ล้านคนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553
แต่ "เพจวิว" ของเว็บไทยกลับเติบโตไม่ถึง 1% มีจำนวน 125 ล้านเพจวิว เพิ่มเป็น 127 ล้านเพจวิว ส่งผลโอกาสทำเงินจากโฆษณาของเว็บไทยยาก เพราะดิจิทัลเอเยนซี่เทเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ไปที่เว็บต่างชาติโดยเฉพาะ "เฟซบุ๊กและกูเกิล"
ไม่แปลกใจว่านี่ไม่ใช่เพียงพฤติกรรมคนไทย แต่รวมถึงพฤติกรรมคนทั้งโลกที่เข้าไปออนไลน์ผ่านเว็บโซเชียลมีเดียดังอย่าง เฟซบุ๊ก และเสิร์ชเอ็นจิ้นอันดับหนึ่งของโลกกูเกิล เมื่อดูยอดคลิกคนทั้งโลกเข้าเว็บไหนมากสุด 10 อันดับแรก อุดมด้วยเว็บโซเชียลมีเดียและเว็บเสิร์ชเอ็นจิ้นหลายเจ้า เว็บพวกนี้ยอดคลิกระดับหลัก "3 พันล้าน" เพจวิวขึ้นทั้งหมด...
มาแบบนี้เม็ดเงินโฆษณาเว็บไซต์เกินครึ่งโลกไม่ไปทางนั้น คงผิดทาง
หรือเว็บขายของออนไลน์ต่างประเทศ เว็บพวกนี้กินรวบโฆษณาได้มากกว่าเว็บไซต์ลักษณะเดียวกันในประเทศด้วยเงื่อนไขง่าย ๆ เป็นตลาดที่กว้างกว่า รองรับคนได้ทั่วทุกมุมโลก
แบบนี้มองเห็นจุดจบของตลาดเว็บไซต์ในประเทศไทยหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะเทรนด์คนเข้าเว็บไซต์ขณะนี้คือใช้ในเรื่องโซเชียลมีเดียกับการค้นหาข้อมูล มีตัวอย่างน่าคิดว่า ท็อปเทนเว็บที่คนทั้งโลกเข้าชมมากสุด มีเสิร์ชเอ็นจิ้นจากจีน Baidu.com ติดมาด้วย เพราะการจำกัดสิทธิ์เข้าถึงบางเว็บจากโลกตะวันตกของทางการจีนเอง ทำให้เสิร์ชเอ็นจิ้นจากเมืองจีนกลายเป็นทางเลือกต้น ๆ ของคนจีน รวมทั้งผู้ใช้ที่เป็นชาวจีนหลายล้านคนทั่วโลกด้วย
กรณีไป่ตู้ของจีนนั้นแทรกตัวขึ้นมาเบียดเม็ดเงินโฆษณาเว็บจากฝั่งตะวันตกได้ แต่ด้วยความเป็นเว็บเสิร์ชเอ็นจิ้นทำให้มีข้อบวกส่วนนี้
จากการพูดคุยบุคลากรด้านนี้หลายคนยังเห็นทิศทางที่ดี และมองโลกในแง่ดีของโฆษณาที่จะเข้าสู่เว็บไซต์ไทย แต่เงื่อนไขสำคัญคือ การสร้างเนื้อหา และหาแนวคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือปรับตัวให้ทัน
ในบ้านเรากรณีเว็บไซต์พอร์ทอลใหญ่ อาทิ สนุกดอทคอม พันทิป ฯลฯ ที่น่าจะเอาตัวรอดได้ และหลายเจ้าก็ปรับตัวให้ทันตามกระแส "ยุคที่ 3" นั่นคือยุคหลังจากเว็บพอร์ทอลไปแล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าจะเข้าสู่ยุคโมบายเว็บ หรือตลาดอุปกรณ์พกพา
เฟซบุ๊กเองกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคที่ 3 ด้วย ยิ่งมีข่าว Facebook Will Disappear by 2020 หรือเฟซบุ๊กจะอันตรธานหายไปภายใน พ.ศ. 2563 เพราะเฟซบุ๊กยังอยู่ระหว่างความพยายามสร้างเทคโนโลยีที่จะเป็นผู้นำในยุคโมบายเว็บ ซึ่งเฟซบุ๊กยังไม่มีและพยายามอยู่
ขณะที่สถานะหุ้นเฟซบุ๊กร่วงต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดขายหุ้นไอพีโอ ทำให้หลายคนเริ่มมีความเป็นห่วงถึงยุคที่เฟซบุ๊กอาจประสบปัญหามูลค่าบริษัทลดลงหลุดจากวงจรแนวหน้าของบริษัทเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่
หรือกรณี บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งลงโฆษณาในเฟซบุ๊ก รายใหญ่ระงับการลงโฆษณาบนเฟซบุ๊กทั้งหมด โดยผู้เชี่ยวชาญการตลาดออนไลน์ ชี้ว่าโฆษณาในกูเกิลมีคนคลิกเข้าไปดูโฆษณามากกว่าในเฟซบุ๊กถึง 10 เท่า สอดคล้องกับที่เฟซบุ๊กแจ้งว่าการลงโฆษณาไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับจำนวนผู้ใช้งาน และยอมรับกับนักวิเคราะห์ว่ายอดขายโฆษณาอาจไม่เป็นไปตามเป้า
กรณีของเฟซบุ๊กจึงสะท้อนบางอย่างผ่านการที่เฟซบุ๊กเปิดขายหุ้น IPO ที่ราคาสูงเกินความต้องการซื้อจริง ผลคือราคาหุ้นตกฮวบฮาบ
จากกรณีเฟซบุ๊กนักการตลาดวิเคราะห์สถานการณ์เป็นระยะเกี่ยวกับการเติบโตของเว็บโซเชียลมีเดียที่ยอดเพจวิวสูงมาก แต่น่าสงสัยถึงความคุ้มค่าของการโฆษณา แม้มีผู้เข้าไปใช้และใช้เวลาในเว็บจำนวนมากก็ตาม โอกาสสำหรับเว็บไทย คำตอบวันนี้คือ สร้างสรรค์ความน่าสนใจให้กับเว็บไซต์เพื่อเพิ่มมูลค่า เพราะยังมี "การประเมินความคุ้มค่า" ในการลงโฆษณาไปที่เว็บนั้นๆ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น